วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สัญญาซื้อขายกับสัญญาจะซื้อจะขาย

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  จะแบ่ง สัญญาซื้อขายเป็น สอง กรณีคือ สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกับสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งหลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินสัญญาซื้อขาย แต่อาจจะไม่ค่อยคุ้นกับสัญญาจะซื้อจะขายเท่าไหร่

ข้อแรกกรณีสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ตามกฎหมายต้องทำเป็นหนังสือและจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ทำการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน ซื้อมีผลเป็นการโอนที่ดินทันที่เมื่อทำการจดทะเบียนที่ดิน หากว่าซื้อขายกันโดยไม่ได้ทำการจดทะเบียนแล้ว ผลทางกฎหมายจะถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันทันที หากมีการชำระเงินกันแล้ว ก็ต้องคืนเงินกันไป

แต่กรณีสัญญาจะซื้อจะขาย คือสัญญาซื้อขายที่ดินเหมือนกันข้อแรก แต่กำหนดว่าจะไปโอนที่ดินกันในภายหลังจากวันที่ทำสัญญา  สัญญาจะซื้อจะขายนั้นกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำสัญญาเป็นหนังสืออย่างเดียว เพราะหากว่ามีการวางมัดจำ หรือการชำระหนี้บางส่วนก็สามารถฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย เช่นหากว่าไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ แต่ผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้บางส่วนส่งมอบให้แก่ผู้ขายแล้ว ถึงเวลานัดโอนที่ดิน ผู้ขายไม่ยอมไปโอนที่ดิน กรณีนี้แม้ว่าจะไม่มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายก็ตาม แต่เมื่อมีการวางมัดจำ ก็สามารถฟ้องร้องให้ผู้ขายโอนที่ดินได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ก็ย่อมเป็นการปกป้องสิทธิของเราได้ดีกว่าแน่นอนครับ เพราะในการพิสูจน์ในชั้นศาลหากมีหลักฐานย่อมได้เปรียบกว่าครับ

ปัญญาหาว่าจะวินิจฉัยอย่างไรว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายนั้นแบ่งเป็นกรณีดังนี้

1.       หัวสัญญา หัวสัญญาจะมีชื่อเรียกต่างๆตามลักษณะของสัญญา เช่น สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่า หรือสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจะซื้อจะขายก็แล้วแต่กรณี หากหัวสัญญาว่าสัญญาซื้อขายแล้ว โดยปรกติศาลอาจจะตีความว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายก็ได้ หรือในทางตรงกันข้ามหากหัวสัญญาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแล้วศาลก็อาจจะตีความว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายก็ได้ ไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญในทางการพิสูจน์เท่าไหร่ เพราะศาลจะถือเจตนาเป็นสำคัญ ดูตามข้อสอง

2.       การจะพิจารณาแบ่งแยกนั้นต้องถือเจตนาเป็นส่วนสำคัญที่สุด สัญญาซื้อขายหรือสัญญาจะซื้อจะขายหากว่าไม่ได้ระถึงกำหนดนัดที่จะโอน ก็จะถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ซึ่งกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนดังที่กล่าวไว้แล้ว แต่หากว่าเป็นสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจะซื้อจะขายและมีกำหนดโอนว่าจะไปโอนที่ดินวันไหน ก็จะถือว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากคู่สัญญามีเจตนาที่จะไปโอนที่ดินในอนาคต ดังนั้นวิธีการดูก็คิดข้อสัญญาในสัญญามีเจตนาจะไปโอนที่ดินกันหรือไม่นั่นเอง ถ้ามีเจตนาไปโอนที่ดินในภายหน้า ก็จะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่หากไม่มีข้อสัญญาว่าจะไปโอนที่ดิน ก็จะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

3.       สัญญาซื้อขาดเสร็จเด็ดขาดหากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนผลตกเป็นโมฆะ แต่หากเป็นสัญญาจะซื้อจะขายทำเป็นหนังสือ หรือวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนก็ผูกพันแล้ว แต่ต้องมีเจตนาไปโอนที่ดินภายหลัง เมื่อไปโอนที่ดินตามกำหนดโอนที่ระบุไว้ในสัญญาก็ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุปว่า การวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะซื้อจะขาย พิจารณาจากเจตนาที่จะไปโอนเป็นสำคัญครับ
ท่านใดมีปัญหาตรงไหนก็สอบถามมาได้เลยนะครับ
 

คำมั่นทางกฎหมาย

คำมั่นคือสัญญาที่ผู้ให้คำมั่นผูกพันตนเองในการที่จะให้คำมั่นแก่ผู้รับคำมั่น เรียกง่ายๆว่าผู้ให้สัญญายอมผู้ผูกพันธ์ตนเองแต่ฝ่ายเดียวนั่นเอง ตามกฎหมายแล้วถือว่ามีผลผูกพัน
ตัวอย่างง่ายๆของการให้คำมั่น ได้แก่ การที่ให้สัญญาว่าจะขายสินค้าให้ เช่น นายแดงบอกกับนายดำว่าตนเองจะขายที่ดินให้นายดำในราคาหนึ่งล้านบาทโดยดำต้องให้คำตอบภายในสิ้นเดือนมกราคม ก็เท่ากับว่านายแดงยอมผูกพันตนเองในคำมั่นดังกล่าว ตามกฎหมายแล้ว แดงจะไม่สามารถขายที่ดินได้จนกว่าจะพ้นระยะที่คำมั่นสิ้นสุด คือหลังจากสิ้นเดือนมกราคมนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามผู้ให้คำมั่นอาจจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ผู้รับคำมั่นจะต้องตอบรับตกลงคำมั่นดังกล่าว เช่น  แดงต้องการขายแหวนให้ดำ โดยคิดว่าดำต้องใช้เวลาเก็บเงินเป็นเวลานาน จึงบอกว่าขายแหวนให้ มีเงินเมื่อไหร่ก็มาซื้อในราคาหนึ่งล้านบาท สังเกตได้ว่าคำมั่นนี้ต่างจากตัวอย่างแรกเนื่องจาก ตัวอย่างแรกมีระยะเวลาที่จะต้องตอบรับคำมั่นภายในสิ้นเดือนมกราคม แต่ตัวอย่างนี้ไม่ได้บอกระยะเวลาที่จะตอบรับคำมั่น ตามกฎหมายแล้วคำมั่นนี้ย่อมผูกพันผู้รับคำมั่นตลอดไป จนกว่าผู้รับคำมั่นจะตอบรับ ไม่ว่าสิบปีหรือยี่สิบปี หากผู้รับคำมั่นตอบรับ ผู้ให้คำมั่นก็จะต้องพร้อมที่จะทำตามคำมั่นนั้น
แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก็กำหนดทางออกไว้แล้วกรณีที่ผู้ให้คำมั่นไม่ได้กำหนดระยะเวลาบอกกล่าวตอบรับคำมั่น โดยการที่ผู้ให้คำมั่นบอกกล่าวต่อผู้รับคำมั่นให้ตอบรับมาภายในระยะเวลาแน่นอน เช่น ภายใน หนึ่งปี หนึ่งสัปดาห์อะไรก็ว่าไปครับ คำมั่นดังกล่าวก็จะเปลี่ยนจากคำมั่นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลามาเป็นคำมั่นที่มีกำหนดระยะเวลา ผู้รับคำมั่นต้องตอบรับภายในระยะเวลาดังกล่าว
คำมั่นจะมีผลผูกพันก็ต้องเมื่อผู้รับคำมั่นแสดงเจตนาต่อผู้ให้คำมั่นว่าตนเองต้องการทำการซื้อขายตามนั้น หากไม่แสดงเจตนาตอบกลับก็ย่อมยังไม่มีผลผูกพันธ์เพราะสังเกตุได้ว่าคำมั่นเป็นการแสดงเจตนาผูกพันธ์โดยฝ่ายเดียว โดยผูกพันเพียงแต่ผู้ให้สัญญาฝ่ายเดียว ไม่ได้ผูกพันต่อผู้รับคำมั่นโดยตรง เพราะหากผู้รับคำมั่นไม่สนใจ อาจจะแสดงออกได้โดยการปฎิเสธคำมั่นดังกล่าวหรือการที่เพิกเฉย ไม่ตอบรับคำมั่นภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือหากกรณีที่เป็นคำมั่นที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ผู้รับคำมั่นอาจจะเพิกเฉยตลอดไป สิบปี ยี่สิบปี ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน

ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นตามกฎหมายที่ดิน เจ้าของจะทำอะไรกับที่ดินของตนก็ย่อมจะไม่ผิด แต่หากว่าเจ้าของไม่ทำอะไรกับที่ดินนั้นเลย ก็อาจจะมีคนมาบุกรุก ปลูกกระท่อม ทำสวน ทำไร่ อยู่ในที่ดินของตน ซึ่งเจ้าของเองอาจจะรู้ว่ามีคนเข้ามาหรืออาจจะไม่รู้ว่ามีคนเข้ามาอยู่ก็ได้ กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่มีที่ดินในครอบครองเป็นจำนวนมากๆ ตนเองอาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็นเจ้าของตรงที่ไหนบ้าง ไม่เคยไปใยดูที่ของตนเองหรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
เจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้เจ้าของที่ดินนั้นใช้ประโยชน์ในที่ดินให้คุ้มค่า ไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ดินทุกแห่งหากเอาไปทำการเกษตรย่อมผลิดอกออกผลได้อย่างแน่นอน จึงลงโทษเจ้าของที่ไม่ใส่ใจในที่ดินของตนเองโดยการที่ หากมีคนอื่นมาครองครองที่ดินดังกล่าวเป็นระยะเวลารวม 10 ปี แล้ว คนที่ครอบครองนั้นก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินไปทันทีตามกฎหมาย แม้ว่าชื่อในโฉนดจะยังเป็นของเจ้าของเดิมก็ตาม ผู้ครอบครองก็มีสิทธิจะไปร้องขอกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นต่อศา่ลได้
หลายๆท่านที่ไม่รู้มาก่อน คงอาจจะคิดว่ากฎหมายไม่ยุติธรรมซึ่งที่จริงแล้วทุกบทบัญญัติล้วนมีเหตุผลและ เจตนารมณ์แฝงอยู่ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวคือเรื่องการครอบครองปรปักษ์ เพราะปัจจุบัน ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในความของครอบของนายทุน ชาวนาที่ทำอยู่ปัจจุบันมีส่วนน้อยมากที่ทำนาของตนเอง ส่วนใหญ่จะไปเช่าที่นามากกว่า หากจะลงโทษผู้ที่ไม่ใส่ใจก็พอสมควรแล้ว เพราะเป็นเวลาถึง 10 ปีเลย
แต่อย่างไรก็ตามทางออกของเจ้าของที่ดินที่ถูกครอบครองครบ 10 ปี แล้วก็ยังคงมีอยู่ หากว่าที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นชื่อของผู้ที่เข้ามาครอบครอง แล้ว เจ้าของต้องโอนไปให้แก่บุคคลภายนอก โดยที่ต้องเป็นการซื้อขายที่ดินกันในราคาปรกติ ห้ามเป็นการให้โดยเสน่หาเด็ดขาด เพราะกฎหมายใช้คำว่าต้อง “เสียค่าตอบแทน” และผู้ซื้อต้อง”สุจริต”โดยไม่รู้ว่ามีคนมาครอบครองที่ดินดังกล่าว รู้หรือไม่รู้ จะต้องเป็นตอนซื้อขายที่ดิน หากตอนซื้อขายที่ดิน ไม่รู้ว่ามีคนครอบครองมาก่อน แต่ภายหลังซื้อขายเสร็จมาสำรวจที่ดินก็ถือว่าสุจริต

หลักฐานการกู้ยืมเงิน

การกู้ยืมเงินนั้นเป็นสิ่งที่ปรกติสำหรับทุกๆคน น้อยคนมากที่จะไม่เคยยืมเงินมาก่อน ผมเองก็เป็นคนนึงที่เคยทั้งให้ยืม และยืมเงินจากเพื่อนๆ แต่ด้วยมิตรภาพและมูลค่าการยืมไม่มากจึงไม่มีการทำเป็นสัญญาแต่อย่างใด เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการโกงกันเพราะยืมกันเพียงหลักร้อยหลักพัน
แต่หากมีการยืมเงินกันในจำนวนมากๆนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐาน หากไม่มีหลักฐานจะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกเงินกู้ได้เลยแต่อย่างใด ซึ่งจำนวนเงินตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป แต่หากต่ำกว่าจำนวนดังกล่าว สามารถฟ้องร้องกันได้โดยไม่มีหลักฐาน
หลักฐานสัญญาเงินกู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบการพิจารณา หากว่า่ไม่มีหลักฐานดังกล่าว พยานหลักฐานอื่นเช่น พยานบุคคล ย่อมไม่มีน้ำหนักเท่ากับพยานหลักฐาน แต่ถามว่าพิสูจน์ได้ไหม พิสูจน์ได้ แต่น้ำหนักในการพิสูจน์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าอาจจะทำสัญญาเงินกู้เป็นหลักฐาน หลักฐานดังกล่าวก็ยังอาจพิสูจน์หักล้าง เช่นว่าสัญญาเงินกู้เป็นโมฆะ หรือ มีมูลหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่ามีสัญญาเงินกู้ ก็ไม่สามารถบังคับได้แต่อย่างใด สัญญาเงินกู้ผมจะให้โหลดสัญญาทั่วไปด้านล่างนะครับ
แต่อย่างไรก็ตามหลักฐานสัญญาเงินกู้ อาจจะไม่จำเป็นต้องทำเป็นสัญญาแบบทางการ เพียงแค่เขียนเอง แล้วลงลายมือชื่อของผู้กู้ เท่านั้นก็เพียงพอ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือลายมือชื่อผู้กู้ ที่ต้องมี เนื่องจากจะฟ้องร้องให้รับผิด ก็ต้องมีลายมือชื่อผู้ที่จะต้องรับผิดเป็นสำคัญ ลายมือชื่อผู้ให้กู้อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ เคยมีคำพิพากษาว่า การเขียนจดหมายตอบโต้กัน ในทำนองว่ายอมรับว่าเป็นหนี้กันจริงแต่ขอผลัดวันชำระหนี้ และจดหมายดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อของผู้กู้ จดหมายนี้ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องได้เหมือนกัน
สาระสำคัญที่ต้องมีในการฟ้องร้องในกรณีที่ไม่ได้เตรียมสัญญาไป (เขียนเอาเองเลยก็ได้ครับ)
ข้อแรก ชื่อ ที่อยู่ ผู้กู้และผู้ให้กู้
ข้อสอง จำนวนเงินให้กู้และข้อความว่าผู้กู้ได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว
ข้อสุดท้าย ลายมือชื่อผู้กู้
เช่น นาย ก อยู่บ้านเลขที่ ให้นาย ข อยู่บ้านเลขที่ กู้ยืมเิงินจำนวน หนึ่งล้านบาท ซึ่งนาย ข ได้รับเงินเรียบร้อยในวันทำสัญญา ลงชื่อ ก ลงชื่อ ข พยาน(ต้องมี) ให้เป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้กู้จะเป็นการดีมาก
สัญญากู้ยืมเงิน ดาวโหลดที่นี่